หนึ่งในเพจของสายคำคมที่ไม่ควรพลาดการกดติดตามคือ เพจ 1991 เป็นเพจที่ถ่ายทอดเรื่องราวความรู้สึกผ่านการเขียน รูปภาพที่ถ่ายในสถานการณ์ตรงนั้น ซึ่งเรื่องราวที่โพสต์ลงบนหน้าไทม์ไลน์ อาจไม่ใช่ข้อความที่ให้กำลังใจ แต่จะเป็นข้อความที่ระบายออกมาจากใจผู้เขียนเสียมากกว่า
ประโยคข้างต้นอาจจะเป็นจุดแตกต่างของการทำเพจ ที่ผู้เขียนกำลังจะถ่ายทอดไปยังคนที่กำลังเข้ามาอ่าน เราขอพาไปทำความรู้จัก คุณพิม-คุณพิมพรรณ มีชัยศรี เจ้าของเพจ 1991 ถึงเรื่องราวการสร้างสรรรค์เพจที่มียอดผู้ติดตามให้ความสนใจมากมาย
ความเรียบง่ายที่เริ่มจากความชอบ
จุดเริ่มต้นของการทำเพจ 1991 เกิดขึ้นจากความเรียบง่ายที่เริ่มจากการโน้ตประโยคคำไว้ในโทรศัพท์และบันทึกภาพที่ถ่ายไว้คิดว่าพอมีภาพถ่ายเยอะขึ้น เราก็อยากหาพื้นที่ปล่อยภาพออกไป เราแค่รู้สึกว่าในภาพ ๆ นั้นมันมีเรื่องราว ความรู้สึกต่าง ๆ อยู่ด้วยและเราเป็นคนชอบเขียนข้อความแนวคำคมอยู่แล้วและอยากมีพื้นที่ที่สามารถโพสต์ได้ทั้งภาพและข้อความได้มันก็น่าจะตอบโจทย์เลยสร้างเพจนี้ขึ้นมา เพราะถ้าหากย้อนกลับไปประมาณ 4-5 ปีที่แล้ว ยังไม่ค่อยมีการทำเพจในรูปแบบคำคมมากสักเท่าไหร่จึงคิดว่าถ้าเราทำขึ้นมาน่าจะเกิดความสนใจมากขึ้น
ชื่อ 1991 ที่เกิดขึ้นมาจากตัวตนของคุณพิม
ตอนนั้นคิดว่าจะใช้ชื่อเพจอะไรดี ในตอนนั้นเราก็สนใจเรื่องของตัวเลขและอยากได้ความแตกต่าง ให้คนที่เห็นชื่อเพจแล้วรู้สึกสงสัยว่าตัวเลขนี้มาจากไหน ทำไมต้องเป็นตัวเลขนี้ มันสื่ออะไรจึงตั้งโจทย์ไว้ว่า ต้องเป็นตัวเลขแต่จะเป็นตัวเลขอะไร ที่บ่งบอกถึงตัวตนของเราคิดว่าจะใช้ตัวเลขที่เป็นวันเกิดและปีเกิด ซึ่งเราเกิดวันที่ 19 ปี 91 เลยนำเลขนี้มาตั้งและช่วงนั้นมีการสำรวจว่าเพจส่วนใหญ่ใช้ชื่อเพจอะไรซึ่งเพจที่เป็นชื่อตัวเลขก็ยังไม่ค่อยมี
เพจคำคมประกอบกับรูปภาพ
ตอนนี้เพจที่ทำในรูปแบบนี้มีเยอะมาก แต่ในตอนนั้นที่ตัดสินใจลงคอนเทนท์ก็เกิดจากการที่เราชอบถ่ายรูปก่อนอย่างที่บอกไป ซึ่งเวลาลงรูปก็ต้องมีข้อความประกอบอยู่แล้ว ข้อความที่ถูกเขียนลงไปก็จะเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนั้นหรือเกี่ยวกับภาพนั้น จริง ๆ ไม่ได้คิดว่าจะต้องเป็นรูปแบบนี้แต่รูปแบบนี้น่าจะสื่อออกมาได้ตรงกับความรู้สึกมากที่สุดก็คือรูปภาพและเขียนข้อความ
เรื่องราวที่ถูกถ่ายทอดเกิดจากตัวเองและคนรอบข้าง
ส่วนใหญ่จะเลือกเขียนจากสิ่งที่เราเจอ เพราะถ้าไม่รู้สึกเราก็เขียนออกมาไม่ได้ สมมติถ้าเราฟังเรื่องราวจากเพื่อนแล้วรู้สึกอินมากเลย เราอาจจะเอามาเขียนได้ แต่บางอย่างไม่ได้อินไป 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เขียนออกมาจะเกิดจากตัวเราหรือสิ่งที่เห็นจากคนรอบข้างแล้วมากระทบความรู้สึกของเรา เราจะเอามาเขียนได้ง่ายกว่า ซึ่งประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์เกิดจากตัวเอง
จุดแตกต่างของเพจ 1991 ที่ต่างเพจอื่น
อย่างที่เห็นว่าแต่ละเพจจะมีความคล้ายกันไปหมด แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นชัดคือเพจเราถ่ายภาพเองและนำมาถ่ายทอด ซึ่งบางเพจอาจจะนำภาพจากที่อื่นมาลง ส่วนข้อความที่ถ่ายทอดในเพจเราจะไม่ได้เป็นเชิงให้กำลังใจมาก ไม่ได้เป็นแนวบวกมากจะเป็นข้อความที่ถูกระบายออกมาจากใจผู้เขียนมากกว่า
ความแตกต่างระหว่างหนังสือกับสื่อออนไลน์
เราคิดว่าต่าง แต่โดยส่วนตัวเราเป็นคนที่ชอบเขียนอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นการเขียนทั้งบนออนไลน์กับหนังสือจึงยังไม่ค่อยเห็นถึงความยาก แต่ถ้าคิดว่าแบบไหนที่ง่ายกว่าก็คิดว่าออนไลน์ เพราะเราสามารถทำคนเดียวได้ ทั้งการเขียนและโพสต์เราสามารถลงเองได้เลย แต่พอเป็นหนังสือก็จะต้องมีหลายคนเข้ามาเกี่ยวข้องกับงานเรา เราอาจจะต้องเขียนอะไรที่มันมากขึ้น เพราะเราต้องคิดว่าในกลุ่มการตลาดที่อ่านหนังสือต้องการอ่านแบบไหน
กลิ่นอายหนังสือในยุคสื่อออนไลน์
ถึงปัจจุบันจะมีออนไลน์ให้อ่าน เข้าถึงง่าย แต่สุดท้ายคนเราต้องการหาอะไรที่จับต้องได้ หนังสือมันมีเสน่ห์ มันมีน้ำหนัก มีกลิ่นของกระดาษ เก็บรักษาได้ ถ้าเป็นออนไลน์เราบันทึกโพสต์ไว้พอนานไปเราก็ลืมมัน แต่พอเป็นหนังสือเราสามารถเก็บได้ สำหรับคนที่ชอบงานเขียนของเรา เราคิดว่าเขาน่าจะอยากเก็บเป็นหนังสือ เรารู้สึกว่าถึงแม้คนเราจะไม่ค่อยอ่านหนังสือแล้วแต่สักช่วงหนึ่งของชีวิตจะต้องมีช่วงที่รู้สึกว่าโลกมันวุ่นวาย เราอยากอยู่สงบ อาจจะฟังเพลงหรือหยิบหนังสือมาอ่าน คิดว่ายังไงก็น่าจะตอบโจทย์
ผลงานจากใจ
ตอนนี้มีทั้งหมด 4 เล่ม คือ 1991 ระหว่างเราสูญหาย , แล้ววันหนึ่งเราจะรู้ว่าสิ่งไหนควรปล่อยไป สิ่งไหนควรเก็บไว้ , วันหนึ่งเราจะพบคนที่เข้ามาและไม่จากไป (ออกคู่กับเพจ once) , อย่าเสียดายหากพรุ่งนี้สิ่งที่เคยมีจะหายไป
มองไปในอนาคตถึงการทำหนังสือ
คิดว่าจะทำต่อไปเรื่อย ๆ ตอนนี้กำลังเขียนเล่มใหม่อยู่ แต่ยอมรับว่ายาก เพราะเราเขียนแนวนี้มาเยอะแล้ว เราต้องหามุมเขียนใหม่เพราะถ้าคนที่ตามตั้งแต่เล่มแรก จะรู้ว่าเป็นแนวนี้ ถ้ามีเล่มต่อมาเป็นแนวเดิมคนอ่านรู้สึกเฉย ๆ ตอนนี้ยังหาแนวเขียนใหม่เพิ่มอยู่
“สุดท้ายคนเราต้องการหาอะไรที่จับต้องได้ หนังสือมันมีเสน่ห์ มันมีน้ำหนัก มีกลิ่นของกระดาษ” ประโยคบอกเล่าจากปากของคุณพิมถึงประเด็นการตีพิมพ์หนังสือในยุคสื่อออนไลน์และยังมีเรื่องราวที่เป็นจุดเริ่มต้นจากพื้นฐานการชอบเขียนและถ่ายภาพ บทสัมภาษณ์ของคุณพิมอาจเป็นหนึ่งในการสร้างแรงบันดาลให้กับคนที่อยากเริ่มทำสิ่งที่ตัวเองชอบ
Additional Information
ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา CJR411,JR413 Newspaper Workshop, CJR413, JR414 Magazine Workshop ภาคการศึกษาที่ 2/2562 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ อาจารย์ที่ปรึกษา ผศ.ขจรจิต บุนนาค และผศ.ณรงค์ศักดิ์ ศรีทานันท์