เวลาท้อแท้ เหนื่อย สับสน เครียด ในช่วงที่ต้องทำงานหนัก เรียนหนัก อกหัก ตกงาน หรือเจอเรื่องกระทบกระเทือนจิตใจ หลายคนอาจมีอาการหงุดหงิดง่าย สมาธิสั้น รู้สึกกังวล และรู้สึกไม่อยากทำอะไรอีกแล้ว จนคิดว่าตัวเองเป็นโรคซึมเศร้าและโรคเครียดไปซะแล้ว แต่จริง ๆ แล้ว โรคเครียดกับโรคซึมเศร้าไม่เหมือนกันซะทีเดียว มารู้จักโรคซึมเศร้าและโรคเครียดกันว่าเหมือนและต่างกันอย่างไร ลองไปเช็คตัวเองกันด่วน ๆ ได้เลย

เครียดกับซึมเศร้า

โรคเครียดกับโรคซึมเศร้ามีบางอย่างที่เหมือนและแตกต่างกัน เราขออธิบายให้ฟังดังนี้

โรคเครียดหรือภาวะเครียด (Stress) เป็นภาวะที่ร่างกายและจิตใจอยู่ในอาการไม่ปกติ ไม่สบายกาย ไม่สบายใจ ความเครียดที่เกิดขึ้นทันที เป็นแรงกดดันจากการทำงาน การเรียน เช่น ต้องทำการบ้านส่งอย่างเร่งด่วน แต่เกิดขึ้นแล้ว สามารถจัดการได้ เมื่อแก้ไขปัญหานั้นจนเรียบร้อย ส่วนภาวะเครียดเรื้อรัง เป็นปัญหาที่สะสมมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน เช่น คร่ำเคร่งกับการทำวิทยานิพนธ์ที่ใช้เวลาเป็นปี ซึ่งภาวะเครียดเรื้อรังส่งผลให้เกิดโรคซึมเศร้าตามมาได้

โรคซึมเศร้า (Depression) สังเกตได้จากอาการหมองเศร้า ไม่มีความสุข กิจกรรมที่เคยชอบทำก็ไม่อยากทำอีกแล้ว เบื่ออาหาร น้ำหนักลด นอนไม่หลับ มีความผิดปกติทางการนอน ขาดสมาธิในการทำงาน และอาจจะส่งผลไปถึงการคิดที่จะไม่อยากมีชีวิตอยู่อีกต่อไป เหล่านี้เป็นอาการเบื้องต้น อีกทั้งโรคซึมเศร้าเกิดเป็นระยะเวลาที่ยาวนานกว่าโรคเครียด และส่งผลต่อร่างกาย ซึ่งจำเป็นที่จะต้องไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยอาการอย่างถูกต้อง

จากข้อมูลข้างต้น เพื่อน ๆ ลองสังเกตอาการตัวเองดูนะคะ และเป็นมานานหรือยัง สาเหตุของความทุกข์ คืออะไร มีอาการใกล้เคียงกับโรคไหนมากกว่ากัน แต่ถ้ายังไม่แน่ใจขอแนะนำให้ไปพบคุณหมอจะดีกว่า เพราะปัจจุบันการพบจิตแพทย์เป็นเรื่องปกติ ทุกคนสามารถไปพบจิตแพทย์ได้ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นโรคอะไร ไม่ว่าเราจะรู้สึกแย่เพราะปลาตาย สอบตก อกหักก็สามารถไปพบพูดคุยปรึกษาขอคำแนะนำกับคุณหมอได้

แนะนำวิธีพบคุณหมอที่โรงพยาบาล

ถ้ามีอาการดังกล่าวไป อย่านิ่งนอนใจ ควรไปปรึกษาแพทย์ เราจะมาแนะนำตัวอย่างการขอเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล มีขั้นตอนง่าย ๆ ที่ปฏิบัติได้ตามลำดับนะคะ

ก่อนที่จะขอเข้ารับการรักษาต้องโทรไปจองคิวล่วงหน้าก่อนนะคะ อย่า walk in เด็ดขาดเพราะคนใช้บริการเป็นจำนวนมาก และรับบัตรคิว สามารถ walk in ได้แค่วันที่มีคนยกเลิกนัดกะทันหันเท่านั้น ไม่งั้นไปเสียเที่ยวแน่นอน

เมื่อถึงวันนัดให้ไปตามเวลา เพราะถ้าไปช้าแล้วมาไม่ทันคิวสุดท้าย อาจจะโดนยกเลิกนัด และต้องเสียเวลามาวันอื่นแทน แนะนำให้ไปสัก 8-9 โมง จะได้คิวแรก ๆ และไม่ต้องรอนานนะคะ

ในวันแรกคุณหมอจะซักถามอาการ ทำความรู้จักกันก่อนว่ามีอาการแบบไหน เป็นมานานหรือยัง และให้คำปรึกษาคร่าว ๆ อาจจะมีจ่ายยา แล้วแต่อาการของแต่ละคน จากนั้นรับบัตรนัดพบในครั้งต่อไป แล้วก็จ่ายเงิน รับยา และกลับบ้านได้

ส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายก็ขึ้นอยู่กับแต่ละโรงพยาบาลนะคะ ถ้าโรงพยาบาลของรัฐ ก็ไม่แพงอย่างที่คิดไว้ อาการเจ็บป่วยทางจิตใจ เป็นอาการที่เราต้องเชื่อมั่นว่าจะรักษาหายได้ แต่ต้องรักษาตัวอย่างต่อเนื่อง ค่อยเป็นค่อยไป เราต้องเปิดใจกับครอบครัว มีคนคอยรับฟ้ง คอยอยู่เคียงข้าง อีกทั้งคุณหมอและพยาบาลก็พร้อมที่จะดูแลคนไข้ทุกคน

บริการปรึกษาจิตแพทย์ของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ

มหาวิทยาลัยกรุงเทพมีสวัสดิการให้บริการปรึกษาจิตแพทย์กับนักศึกษาด้วยนะคะ บริการปรึกษาจิตแพทย์ จะเปิดบริการทุกเทอม โดยจะมีลิ้งค์ให้ลงทะเบียนทางออนไลน์ ทาง bumail เพื่อนัดเวลาเพื่อรับการปรึกษาทางจิตวิทยากับเจ้าหน้าที่ เพื่อประเมินอาการคร่าว ๆ ก่อน ถ้าใครมีอาการต้องการพบจิตแพทย์ ก็จะนัดอีกทีในวันต่อไป ปัจจุบันล่าสุดจะเปิดเป็นรอบ รอบละ 10 คน คนที่สนใจเข้ารับคำปรึกษาก็ติดตามข้อมูลทาง E-mail นักศึกษาหรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ One Stop Service

สิ่งที่เรากำลังเจออยู่เป็นแค่หนึ่งบททดสอบในชีวิตของเรานะคะ ทุกปัญหามีทางออก เราขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนผ่านอุปสรรคในชีวิต เรื่องยาก ๆ คือความท้าทาย แล้วเราจะเติบโตอย่างเข้มแข็ง คนที่กำลังกังวล ท้อแท้ ก็อย่าลืมนึกถึงเรื่องการไปปรึกษาคุณหมอ ทุกอย่างแก้ไขได้ ถ้าไม่ปล่อยไว้จนสายเกินไป

Reference & Bibliography

Additional Information

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา AD552 Creative Portfolio, BR551 Social Broadcasting ภาคการศึกษาที่ 1/2 2563

Writer

หลังจากเขียนงานเขียนกิ๊กก๊อกมานานก็ได้โอกาสจับงานเขียนที่ดูจริงจังขึ้นมาสักหน่อย ถ้ามีโอกาสก็อยากจะลองทำงานให้ครบทุกฝ่าย แต่เวลาไม่เคยเข้าใจ

Graphic

ชอบในการทำกิจกรรม แต่ก็ขี้อายพอสมควร ถ้างานไหนน่าสนใจมาก ๆ ความขี้อายก็ไม่ใช่อุปสรรคไม่ใช่คนเก่งอะไร เป็นคนมีความพยายามแล้วทุกอย่างจะสมดั่งใจเราเอง