สตรีมเมอร์ (Streamer) หรือ นักแคสต์เกม เป็นอีกหนึ่งอาชีพที่เกิดขึ้นจากการเปิดกว้างของวงการเกมในประเทศไทย สตรีมเมอร์จะถ่ายทอดสด (Live) การเล่นเกมของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นเทคนิคในการเล่น ความรู้ หรือความบันเทิงที่สร้างเสียงหัวเราะและความสุขให้กับผู้ชมได้ โดยมีการเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ที่เปิดพื้นที่ให้กับเหล่าสตรีมเมอร์ อาทิ ยูทูป ทวิตช์ หรือแม้กระทั่ง เฟซบุ๊ก ที่ตอนนี้ได้เปิดเฟซบุ๊กเกมมิ่ง (Facebook gaming) เพื่อเป็นชุมชนออนไลน์ที่รวบรวมเหล่านักแคสต์เกม สตรีมเมอร์ และคนรักเกม

เราชวนพูดคุยกับ พี่ไนท์-พิชญุตม์ สิทธิพันธุ์ ชื่อในวงการเกม Arthur หนึ่งในสตรีมเมอร์ที่เป็นกระแสอยู่ในโลกสังคมออนไลน์ พี่ไนท์มีบุคลิกที่น่าสนใจผนวกกับการเล่นเกมที่เต็มไปด้วยความสนุกสนาน และการเล่าเรื่องจากมุมมองชีวิตคนคิดบวกใน นิทานก่อนนอนกับลุงไนท์ ซึ่งเป็นเรื่องที่พบเจอในชีวิตประจำวันได้อย่างน่าสนใจและน่าติดตาม

ค้นหาความชอบ

พี่ไนท์ เล่าให้เราฟังถึงจุดเริ่มต้นในการเป็นสตรีมเมอร์ว่า เริ่มจากความรู้สึกเบื่อในสิ่งที่กำลังทำอยู่ ขณะเรียนอยู่รู้ว่า ไม่สามารถทำได้ดีเท่าคนอื่น และการเป็นสถาปนิกไม่ใช่จุดมุ่งหมายในชีวิต เพียงแต่เลือกเรียนเพราะพ่ออยากให้เรียน จึงเริ่มพยายามมองหาอะไรที่ตัวเองสนใจ โดยเริ่มจากสิ่งที่ชอบและทำได้ดีมากที่สุดก่อน ซึ่งคือเกม หลังจากนั้นก็มีเพื่อนที่สนิทกัน ตอนนี้ทำช่องยูทูปร่วมกัน ได้ชักชวนให้ลองเป็นสตรีมเมอร์ จึงได้เริ่มศึกษาและลองทำ

ที่มาของชื่อช่อง Gssspotted ของพี่ไนท์ ค่อนข้างล่อแหลมสักหน่อย แต่ก็เป็นเรื่องปกติของมนุษย์เรา จริง ๆ แล้วความหมายเริ่มต้นมาจากเกม โดยเพื่อนในคณะได้หยอกล้อกันว่า ไนท์ E-Sport แข่งเกมไปทั่ว และเพื่อนสนิทคนหนึ่งได้กล่าวถึงฉายาอีสปอร์ตนั้นมีปกติทั่วไป อย่างเราต้องแตกต่างจึงเปลี่ยนเป็นจีสปอร์ตแทน ใกล้เคียงกันแต่ท้าทายกว่า เรียกชื่ออยู่ประมาณครึ่งปี จึงฟังจนติดหู จนกระทั่งตัดสินใจทำช่อง และเลือกชื่อนี้มาใช้

การโลดแล่นในวงการนี้ เพราะคลิปวิดีโอที่ทำให้เริ่มเป็นที่รู้จัก พี่ไนท์บอกว่า คลิปสร้างสะพานทำให้เป็นที่รู้จัก เนื่องจากมียอดเข้าชมมาก และมีการแชร์กันไปอย่างล้นหลาม แต่กระแสแรกที่ทำให้คนรู้จักก็คือคลิปที่สอนเล่นเกม Raknarok Eternal Love ช่วงนั้นกำลังหาจุดดึงดูดให้คนเข้ามาชม ประจวบกับที่เกมที่เคยได้มีโอกาสเล่นมาก่อน ได้เปิดให้เล่น จึงทำคลิปสอนการเล่น ทำให้เกิดติดเป็นกระแสครั้งแรกในโลกออนไลน์ ก่อนที่จะมาเป็นที่รู้จักอีกครั้งใน ‘คลิปสร้างสะพาน’

นักเล่าเรื่องนิทานก่อนนอน

เหล่าผู้ติดตามพี่ไนท์ ส่วนใหญ่ชอบ นิทานก่อนนอนกับลุงไนท์ การเล่านิทานมาจากนิสัยที่ชอบเก็บเรื่องต่าง ๆ มาเล่า ชอบสังเกตในจุดที่คนอื่นไม่ค่อยสังเกต เช่น เป็นเรื่องเล่าบทสนทนา เรื่องของเพื่อนชอบนำมาเล่าหยอกล้อ เราจำเรื่องแบบนี้มาได้ เมื่อถึงเวลานัดทานข้าว หรือ สังสรรค์ร่วมกัน เพื่อนมักจะรอเราเล่าเรื่องที่คนอื่นอาจลืมไปแล้ว กลับมาเล่าใหม่ในวงสนทนา แล้วชอบฟังกัน ตอนที่สตรีมเกม คิดว่าตรงนี้เอามาเล่นได้ ก็เริ่มเป็นนิทานก่อนนอนกับลุงไนท์

เมื่อถามถึงการใช้ชีวิต พี่ไนท์บอกว่า คือ ชีวิตมีความสุข และอยากให้เราใช้ชีวิตให้มีความสุขที่สุด พยายามออกไปเจออะไรเยอะ ๆ ไม่ว่าจะอยู่ในจุดไหนก็แล้วแต่ หากมองด้วยความสุข นั่นก็จะเป็นชีวิตที่มีความสุขและสมบูรณ์ สำหรับผม ชีวิตยังมีอะไรอีกมากมายที่ยังไม่ได้ทำ และก็ชอบที่จะได้ทำอะไรหลายอย่าง เพื่อจะได้มีเรื่องกลับมาคุยกับเพื่อน เพราะฉะนั้นแล้วชีวิตที่มีความสุข คือ ทำอะไรที่เรามีความสุขไปอย่างเต็มที่ แต่ต้องเป็นความสุขที่ไม่เดือดร้อนคนอื่น คนเราอาจจะตายตอนอายุ 50 ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ช่วงชีวิตระหว่าง 30-50 จะต้องมีความสุข

พี่ไนท์บอกกับเราเพิ่มเติมว่า สิ่งที่ได้รับจากการเล่นเกมนอกจากความสนุก ที่เห็นได้ชัด คือมิตรภาพ สังคม การเล่นเกมเป็นเหมือนกิจกรรมละลายพฤติกรรม เราไม่รู้จักเพื่อนคนนี้มาก่อน แต่รู้ว่าเขาเล่นเกมเดียวกันจึงชวนมาเล่นด้วยกัน เป็นสิ่งที่ละลายพฤติกรรมที่เร็วมาก เพราะเป็นกิจกรรมที่เราชอบทั้งคู่

เกมเป็นสิ่งที่คนหลายคนมีความชอบเหมือนกัน มาอยู่ในทีมเดียวกัน คิดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นการสร้างเสริมมิตรภาพ สร้างสังคม การที่ได้เล่นเกมใหม่ เจอสังคมใหม่ ถือว่าเป็นการเดินทางครั้งหนึ่งเหมือนกัน ได้เดินทางไปในเกมที่เราไม่รู้จัก พบเจอผู้คนในเกม สามารถเรียนรู้อะไรจากเขาได้อีกมากมาย สำหรับผมนั่นคือสิ่งที่ได้มากกว่าความสนุก

เรียนรู้จากเกมได้มากมาย

เรายังสนุกกับการชวนพี่ไนท์คุยเรื่องเกม พี่ไนท์แจกแจง หากเป็นคนที่ช่างสังเกตหน่อย เป็นคนที่มีความตั้งใจหรือชอบอะไรหลายอย่างในเกม สามารถเจาะลึกไปที่เกมนั้นได้ หากชอบภาษา เกมสอนเราได้ หรือจะเป็นเกมประวัติศาสตร์ เดี๋ยวนี้เกมสอนภาษาญี่ปุ่นในสตีม (Steam สตีม หมายถึง โปรแกรมสำหรับเล่นและจำหน่ายเกมที่ถูกต้องตามลิขสิทธิ์) เป็นเกมตัวอักษรภาษาญี่ปุ่น หากเราเห็นบ่อยก็จะจำได้

เกมสามารถทำอะไรได้มากกว่าแค่สนุกอย่างเดียว เกมยังมีอะไรอีกมากที่ต้องเจาะดู บางเกมสามารถนำเสนอเรื่องเกี่ยวกับวัฒนธรรมออกมาได้อย่างดี เราสามารถนำเรื่องที่พบไปคุยกับเพื่อนในชาติได้ ตัวผมเองมีเพื่อน ชื่อ ราฟาเอล เป็นคนอิตาลี ตอนนั้นได้เล่นเกม MAFIA III เกี่ยวกับมาเฟียอิตาลี ก็จำพฤติกรรมของตัวละครในเกม แล้วก็มาถามเพื่อนว่าได้ทำอะไรแบบนี้จริงไหม เพื่อนสงสัยว่าจำมาจากที่ไหน ผมตอบว่าจากการเล่นเกม สิ่งนี้ก็เหมือนกับว่าเป็นการเปิดบทสนทนา เป็นการเปิดหัวข้อที่ทำให้สามารถสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนได้ดีกว่าเดิม

ข้อคิดและสิ่งที่ได้รับจากการเป็นสตรีมเมอร์คือความสุข อีกอย่างหนึ่ง เราควรจะหาจุดที่เป็นความสุขและลองทำดู สตรีมเมอร์เป็นอาชีพที่หลายคนบอกว่าประสบความสำเร็จยาก และไม่ปฏิเสธว่าเป็นเรื่องจริง เพราะว่ามีคนอยากจะเป็นอยู่เรื่อย อยากอยู่ในจุดที่คนคิดว่าแค่เล่นเกมแล้วก็มีเงิน

ความจริงแล้วไม่ใช่แค่เล่นเกมแล้วมีเงิน ยังมีเรื่องของการคุย การดูแลตัวเอง การใส่ใจ และมีความรับผิดชอบ แต่ถ้าหากใครสนใจอยากจะเป็นก็ให้ลองทำดู จะได้เรียนรู้อะไรใหม่อีกมากมาย และยังเป็นประสบการณ์อีกด้วย แม้เราอาจจะไม่ประสบความสำเร็จในฐานะสตรีมเมอร์ แต่อย่างน้อยก็ได้รู้ว่าการเป็นสตรีมเมอร์เป็นอย่างไร การจริงจังกับการอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ก็เหมือนคุยกับกระจกเป็นการพัฒนาตนเองระดับหนึ่ง

ชีวิตที่มีวินัยและคิดเพื่อก้าวไปข้างหน้า

พี่ไนท์กล่าวก่อนจบการสนทนาครั้งนี้ว่า การเป็นสตรีมเมอร์อย่าคิดว่าเป็นเพียงการเล่นเกมแล้วคุยกับหน้าจอ หากมองว่าเป็นงาน นั่นก็คืองานจริง ๆ ในหนึ่งสัปดาห์ต้องทำงาน 5 วัน วันละ 7 ชั่วโมง เป็นอย่างน้อย เหมือนกับคนปกติ เพียงแค่ไม่ต้องตอกบัตรตอนเวลา 8 โมงเท่านั้นเอง จะเข้างานตอนกี่โมงก็ได้ แต่แค่ต้องเลิกดึกเท่านั้น และถ้าหากมองว่าเป็นงานแล้วยังจะมีความสุขกับการเป็นสตรีมเมอร์อยู่หรือเปล่า ซึ่งสำหรับผมสิ่งที่ได้รับคือความสุข สามารถมีเงินพาพ่อไปเที่ยวได้ และการเป็นสตรีมเมอร์สามารถจัดสรรเวลาเองได้ ได้เพื่อน และมีสังคมที่ดี

อาชีพสตรีมเมอร์กำลังเป็นที่นิยมอย่างมากในขณะนี้ การเป็นสตรีมเมอร์ยังมอบประสบการณ์ให้เราได้เรียนรู้อีกหลาหลาย การเข้าสังคม การได้เรียนรู้ภาษา วัฒนธรรม ได้ฝึกทักษะการเล่าเรื่อง สิ่งสำคัญที่สุดคือไม่ว่าจะทำอาชีพใดก็ตาม ขอให้รักในงานที่ทำ แล้วจะทำให้เราใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข

Additional Information

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา CJR311, JR311 Journalistic Writing across Media Section 3221 ภาคการศึกษาที่ 1/2 2562 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ อาจารย์ที่ปรึกษา อาจารย์ปริณดา เริงศักดิ์

Writer & Photographer

พิสูจน์การมีตัวตนผ่านตัวหนังสือและเล่าเรื่องราวผ่านงานเขียน